ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีใดที่รักษาโรคออทิสติกให้หายขาดได้ ซึ่งโรคนี้มาจากความผิดปกติทางสมอง แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีความหวัง เด็กออทิสติกสามารถดีขึ้นได้ถ้าได้รับการส่งเสริมอย่างเหมาะสม เป้าหมายหลังจบการแก้ไข คือ กระตุ้น-ฟื้นฟูพัฒนาการในด้านต่างๆ ให้ดีขึ้น จนใกล้เคียงกับเด็กปกติมากที่สุด
‘ออทิสติก’ มีอาการหลายอย่างส่วนความรุนแรงก็แตกต่างกันไป เช่น พูดไม่ได้เลยหรือพูดมากไม่หยุด , มีภาวะปัญญาอ่อนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้จวบไปจนถึงเรียนเก่งจนจบปริญญาเอกได้เลย ทางการแพทย์ได้แบ่งอาการของโรคนี้เป็น 3 ระดับ ได้แก่…
- รุนแรงน้อย มีสติปัญญาดี ภาษาดีพอใช้ เรียนร่วมกับเด็กปกติได้ บางคนเรียนได้ถึงปริญญาเอก
- รุนแรงปานกลาง มีพัฒนาทางสังคมกับภาษาที่จำกัด ช่วยตัวเองได้ดีพอใช้
- รุนแรงมาก มีภาวะปัญญาอ่อนร่วม ภาษาและสังคมพัฒนาไม่ค่อยพัฒนา ช่วยเหลือตนเองไม่ได้ จำเป็นต้องมีผู้ดูแลไปตลอดชีวิต
การวินิจฉัยและการรักษาควรเริ่มตั้งแต่ยังเล็ก และรักษาอย่างต่อเนื่อง ถึงจะทำให้ผลรักษาออกมาดี โดยวิธีรักษาที่เหมาะสม ได้แก่ ‘บูรณาการ’ การรักษาไปตามความจำเป็นของเด็กแต่ละคน
ส่งเสริมความสามารถเด็กออทิสติก
แนวทางการรักษาในปัจจุบันส่วนมาก จะให้ความสนใจไปยังการแก้ไขความบกพร่อง ผสมผสานกับความสามารถส่วนตัวของเด็ก เพราะพบว่าเด็กออทิสติกบางคนมีความสามารถพิเศษในด้านในด้านหนึ่งด้วย โดยความสามารถนี้จะทำให้ได้รับความยอมรับจากสังคมง่ายขึ้น เป็นการเปิดโอกาสทำให้เขาได้เรียนรู้และพัฒนาเพิ่มขึ้น บนแนวคิด แก้ไขเพื่อดึงความสามารถให้เต็มที่ , เต็มศักยภาพ ไม่ใช่ลดความผิดปกติเท่านั้น ต่อมาเมื่อเด็กได้รับการยอมรับจากสังคมแล้ว โอกาสในการพัฒนาทักษะทางด้านสังคมก็จะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย เพราะพวกเขาไม่ต้องปรับตัวอยู่ฝ่ายเดียว แต่สังคมก็พยายามปรับตัวด้วยเช่นกัน
โดยความสามารถในที่นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นมีความพิเศษเสมอไป แต่มันคือสิ่งที่เด็กทำได้ เช่น ส่งเสียงอะไรได้บ้าง , พูดอะไรได้บ้าง , เล่นอะไรเป็นบ้าง , ช่วยเหลือตัวเองเรื่องอะไรได้บ้าง เป็นต้น แล้วก็ขยายทักษะนี้ให้ดีขึ้น โดยการเปิดโอกาสให้เด็กทำบ่อยๆ แล้วสอนเพิ่มเติมในเรื่องที่เด็กทำได้ ก็จะทำให้การเรียนรู้ง่ายขึ้น
ด้วยการเสริมสร้างโอกาสให้เด็กได้เล่นของเล่นอย่างหลากหลาย รวมทั้งได้ลองทำกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น ดนตรี , กีฬา งานศิลปะประเภทต่างๆ , ช่วยงานของพ่อ-แม่ ก็จะทำให้เด็กมีโอกาสแสดงความสามารถให้เห็นเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ‘ครอบครัว’ มีบทบาทสำคัญที่สุดในการส่งเสริมพัฒนา รวมถึงปรับพฤติกรรมของเด็กออทิสติก ให้เขาพัฒนาและอยู่ร่วมกับสังคมนี้ได้อย่างมีความสุข